อาหารบัลดาลสุข

มะระมีรสขม แต่ทำไมคนชอบกิน

ชื่อ : มะระจีน

ชื่อสามัญ : Bitter cucumber-chinese

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantia Linn.

วงศ์ : CUCURBITACEAE


ชื่อ : มะระขี้นก

ชื่อสามัญ : Bitter gourd

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica charantia Linn.

วงศ์ : CUCURBITACEAE

  คำโบราณที่แพร่หลายว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” นั้นไม่เคยตกยุค เพราะยาอีกจำนวนมากยังคงขมอยู่ บางคนอาจเถียงว่ายาบางชนิดก็หวาน (กินอร่อย) แต่นั้นเป็นการเติมน้ำตาลหรือรสเพื่อกลบรสขมมากกว่าการที่ยานั้นหวานโดยตัว มันเอง

ทำไมสิ่งที่ใช้เป็นยาจึงต้องขม กินก็ยาก ก็คงเพราะขมนี่แหละที่ทำให้เรารู้ว่านี่คือยา ไม่ใช่ของกินเล่นหรือขนม และคงต้องรักษาสุขภาพให้ดีไว้ก่อนที่โรคาพยาธิจะเบียดเบียน และต้องกินของที่ขม ที่แสนขื่นลิ้นอย่างยาทั้งหลาย (อันนี้ผู้เขียนคิดเอง) แต่ทุกอย่างก็ต้องมีข้อยกเว้น มีรสขมบางอย่างที่อร่อย นั่นคือมะระ กว่าจะรู้ว่ารสขมนี้แสนอร่อยปานใดก็ต้องรอให้เติบโตจากเด็ก เล็กมาสู่เด็กโตสักนิด เพราะอย่างไร ๆ เด็กส่วนมากถึงมากที่สุดก็ไม่ถูกกันกับรสขมอยู่ดี คงฝังใจจากการถูกบังคับให้กินยาเมื่อป่วย ต่อให้มะระนั้นขมน้อยลงด้วยวิธีการต้มก็ตามที


ชนิดของมะระ

      มะระที่เราว่าคุ้นนั้นมี 2 ชนิด อย่างแรกคือมะระจีน หรือบางทีก็เรียกมะระเฉย ๆ ผลจะมีลักษณะอวบอ้วน ลูกโต สีเขียวอ่อน และรสขมน้อยกว่าอีกชนิดหนึ่ง คือมะระขี้นก ที่ขมมากกว่า (บางคนอาจบอกว่าขมกำลังดี) ชนิดนี้ผิวตะปุ่มตะปำป้อม ๆ ลูกเล็กกว่า และมีสีเขียวเข้มกว่า มีเนื้อบาง ปลูกง่ายกว่ามะระจีน
      มะระชอบดินร่วนซุย แดดแรง สำหรับมะระขี้นกบางทีก็ขึ้นเอง ออกดอกออกผลเองให้เราเก็บกินสบาย ๆ อยู่ตามรั้วตามดิน

 

ถิ่นกำเนิด

     มะระจีนนั้นว่ากันว่าเป็นพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีน ซึ่งก็คงนำเข้ามานานนักหนาแล้ว ลักษณะลำต้น ใบ ดอกนั้นแทบไม่ต่างจากมะระขี้นก เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า ก็อ่อนกว่าเล็กน้อยและขนาดผลของมะระจีนใหญ่กว่ามาก เส้านผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 เซนติเมตร เนื้อหนา ผิวขรุขระ มีเมล็ดแบน ๆ สีเหลืองอื่น อยู่ในเนื้อฟ่าม ๆ ตรงกลางลูก เมื่อแก่จัดเนื้อในผลจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม และมักถูกแลงกัดกินได้ง่าย การรับประทานจึงต้องระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง และควรใช้น้ำยาล้างผัก หรือด่างทับทิมแช่ไว้สักครู่ก่อนนำมาประกอบอาหาร

     ส่วนมะระขี้นกนั้นเป็นผักพื้นบ้านของไทย เป็นที่นิยมรับประทานกันแพร่หลายมานานแสนนานแล้ว และมีความต้านทานโรคดีกว่ามะระจีน

คุณค่าทางอาหาร

     คนไทยนิยมกินมะระกันหลากหลายรูปแบบโดยไม่หวั่นต่อความขม เมนูหลัก ๆ ที่เป็นที่ชื่นชอบกันก็ได้แก่ ต้มจืดมะระ ถ้าขมนักก็เติมผักกาดดองเล็กน้อยเพื่อตัดรสขม หรืออาจต้มโดยเปิดฝาหม้อไว้หรือต้มนาน ๆ ท่านผู้เชี่ยวชาญแนว่าจะทำให้รสขมลดลงเล็กน้อยเหลือแต่ความขมอร่อย ต้มจืดหรือตุ๋นมะระยัดไส้หมูสับซึ่งเป็นของโปรดของเด็ก (หมูสับข้างในท่อกลวงของมะระจะถูกเด็ก ๆ เอาออกมากินก่อนเสมอ) แกงคั่วมะระ มะระผัดไข่ ลวกหรือต้มจิ้มน้ำพริก กินกับขนมจีนน้ำยา ส่วนมะระสดฝานนั้นเห็นวางเคียงมากกับหมูมะนาวและกุ้งแช่น้ำปลา อย่างหลังนี้เป็นที่ถูกใจพวกคอเหล้า และคอของสดอย่างยิ่ง นัยว่ามะระสดนั้นช่วยดับกลิ่นคาวและเพิ่มรสขมที่กลมกล่อมให้กับของสด ๆ เป็นพิเศษ


      ส่วนมะระขี้นกนั้นเมนูน้อยกว่า เพราะรสชาติที่ขมมากกว่ามะระจีน โดยมากก็เห็นเพียงต้มหรือลวกจิ้มน้ำพริก แต่หากว่ามีกะทิสดราดมาด้วยก็จะทำให้รสเอร็ดขึ้นมาก ขมนั้นจะเป็นเสนห์ขึ้นมาโดยพลัน นอกจากผลแล้ว ใบของมะระขี้นกก็นำมาทำอาหารได้ อย่างแกงทางอีสานบ้านเรานั้นก็นิยมนำใบมะระขี้นกใส่ลงไปในแกงเห็ดแบบพื้น บ้านจะช่วยให้รสชาติของแกงหม้อนั้นกลมกล่อมมากขึ้นเพราะมีรสขมนิด ๆ มาช่วยทำให้ครทุกรส บางที่ก็นิยมนำมาต้ม หรือลวกจิ้มน้ำพริกเหมือนกัน ครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนยังเด็ก ได้กินมะระขี้นกยัดไส้หมูสับต้มจืด ต้มนานสักนิดพอให้รสขมเจือจาง


ประโยชน์

     ส่วนคำที่ว่าหวานเป็นลมขมเป็นยานั้น สำหรับมะระก็ต้องว่าจริงแท้แน่เทียว เพราะมะระขี้นกนั้นมีพิเศษขึ้นมาอีก คือน้ำต้มรากกินเป็นยาลดไข้ บำรุงธาตุ เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร แก้บาดแผลอักเสบ

ใบเป็นยาเจริญอาหาร ช่วยระบาย น้ำคั้นใบกินเป็นยาทำให้อาเจียน บรรเทาอาการท่อน้ำดีอักเสบ ดอกชงกินกับน้ำแก้อาการหืดหอบ ผลกินเป็นยาขม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ขับพยาธิ แก้ตับและม้ามอักเสบ เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม

      เพราะคุณสมบัติที่โดดเด่นเรื่องสมุนไพรนี่ เองที่ปัจจุบันมีผู้สนใจรับประทานกันแพร่หลาย ใครที่ไม่ชอบกินสดเพราะความขมก็มีแบบแคปซูลให้กินง่ายขึ้น หรือจะคั้นน้ำมะระมารับประทานสัปดาห์ละไม่เกิน 1 แก้ว เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นยาระบาย เคยมีความเชื่อฮือฮาเป็นข่าวมามื่อไม่กี่ปีนี้ว่าผลมะระขี้นกช่วยยับยั้ง เชื้อเอดส์ในร่างกายมนุษย์ ช่วงนั้นมะระขี้นกขายดีเป็นพิเศษแทบเกลี้ยงตลาด หากคิดว่าเป็นการปรับสมดุลในร่างกายแล้วก็มีความเป็นไปได้มากทีเดียว

มะระมีฤทธิ์เย็น จึงมีคำแนะนำว่าไม่ควรรับประทานติดกันเกินไป กินแค่พอเย็นๆ ใจ เว้นระยะบ้างแล้วช่วงที่เว้นก็ลองรับประทานอาหารผักอย่างอื่น ๆ ให้ร่างกายเกิดสมดุล แล้วค่อยกลับมากินใหม่ให้ชื่นใจ

คัดบทความจาก
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/มะระ