ประวัติ
ประวัติองค์การฯ
องค์การพระกิตติคุณสมบูรณ์สัมพันธ์ในประเทศไทย (พ.ส.ท.) ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นโดยมิชชันนารีชาวแคนาดา ศาสนาจารย์วิลเลี่ยม เอฟ. บุทเชอร์ (WILLIAM F.BUTCHER) ได้เข้ามาบุกเบิกพันธกิจในประเทศไทยในปี 1961 ระยะแรกท่านทำงานอยู่กับชุมชนชาวจีนในย่านเยาวราช โดยใช้สถานที่ที่เป็นบ้านของพี่น้องคริสเตียนที่รักพระเจ้า ซึ่งเป็นห้องเล็กๆ อยู่บนชั้นที่ 4 ของโรงแรมหกชั้น โดยการสอนภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ต่อมาสถานที่คับแคบและแออัด ท่านจึงย้ายมาเช่าห้องที่บริเวณวงเวียน 22 กรกฎา อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ และเปิดสถานประกาศชื่อว่า “พระเจ้าทรงเรียก” คริสตจักรเติบโตอย่างรวดเร็ว จากวันเริ่มต้นจนถึงวันที่ท่านกลับประเทศแคนาดา มีสมาชิกประมาณ 40 – 50 คน
ปี 1965 มีมิชชันนารีครอบครัวใหม่คือ ศจ.ดอน เชล เล็นเบอร์ก ได้เข้ามาร่วมงานอีกครอบครัวหนึ่ง ถึงประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน อจ.บุทเชอร์และครอบครัวได้กลับแคนาดา เพื่อไปรายงานต่อคริสตจักรในคณะถึงพันธกิจที่ทำในประเทศไทย และเพื่อขอการสนับสนุนทางการเงินเพื่อจะซื้อที่ดินสำหรับการก่อสร้างอาคารโบสถ์และโรงเรียนพระคริสตธรรม จากความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ทำให้ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายน 1965
ปี 1968 ครอบครัวของ ศจ.โรนัลด์ อี. ไวท์ ได้เข้ามาในประเทศไทย เพื่อเตรียมการตั้งโรงเรียนพระคริสตธรรม และรับช่วงงานต่อเพราะ ศจ.เชลเล็นเบอร์ก จะกลับแคนาดาในปีถัดไป
ปี 1969 ศจ.ไวท์ เปิดการสอนพระคัมภีร์ในภาคค่ำเดือนกรกฎาคมขึ้น โดยมีผู้เข้าเรียนรุ่นแรก 5 คน วันที่ 11 ตุลาคม 1969 ขณะที่ ศจ.ไวท์และคนไทยอีก 5 คน (เป็นนักเรียนพระ คัมภีร์ 3 คน) รถยนต์ประสบอุบัติเหตุที่อำเภอวังน้อย จ.อยุธยา ถูกรถส่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งแซงรถบรรทุกขึ้นมาแล้วชน เป็นเหตุให้ อจ.ไวท์กับคนไทยอีก 3 คนเสียชีวิต
ปี 1970 คณะมิชชั่น PAOC ได้ ส่งมิชชันนารีเข้ามาอีก 4 ครอบครัว คือ
- ศจ.ดอน เรย์เมอร์
- ศจ.ดาร์ลสัน ยัง
- ศจ.โรเบอร์ต จอห์น อีมส์
- อจ.เกล็น บอสเลอร์ อาจารย์ท่านนี้และภรรยามาเป็นครูสอนใน โรงเรียนนานาชาติพร้อมกับการร่วมรับใช้พระเจ้าด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่มาร่วมรับใช้พระเจ้าในการประกาศและช่วยสอนภาษาด้วย อาทิ อจ.แจนิส โลเวน และอาสาสมัครอีกหลายคนเปิดศูนย์สอนภาษาชื่อ SHARON BIBLE CENTER (สุขุมวิทซอย 11)
ศจ.อีมส์ เคยเป็น มิชชันนารีที่ไปในหมู่เกาะเวสท์อินดิส มีพันธกิจที่เกิดผลมาก ในปี 1971 ท่านได้รับหน้าที่เป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรพระเจ้าทรงเรียก และผู้อำนวยการโรงเรียนพระคัมภีร์ภาคค่ำด้วย แต่ท่านทำหน้าที่ได้เพียงระยะเวลาที่สั้นมาก เพราะในเดือนกรกฎาคม 1971 ท่านได้เสียชีวิตเพราะหัวใจวาย หลังจากการไปตี SQUASH
ปี 1972 เนื่องจากความตายที่เกิดขึ้นกับมิชชันนารีกับคนไทย ทำให้พี่น้องจากแคนาดาได้ถวายตัวมาเป็นมิชชันนารีมากขึ้น และได้ร่วมกันถวายทรัพย์เพื่อการซื้อที่ดินสร้างโบสถ์และโรงเรียนพระคัมภีร์ เป็นเงิน 2,200,000 บาท และเราได้ซื้อแปลงที่ดินที่สุขุมวิทซอย 6 เป็นโบสถ์ และเปลี่ยนชื่อจากคริสตจักรพระเจ้าทรงเรียกเป็นคริสตจักรใจสมาน และเปิดสอนพระคัมภีร์ภาคค่ำ และในปีต่อมาเปิดเป็นภาคกลางวัน ใช้ชื่อศูนย์ฝึกอบรมศาสนทูต โดย ศจ.ดอน เรย์เมอร์ เป็นผู้อำนวยการ (ปัจจุบันคือ พระคริสตธรรมเพ็นเทคอส)
ในช่วงปี 1972 – 1975 มิชชันนารีและคนไทยได้ร่วมกันก่อตั้งขยายพันธกิจไปในที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง ประกอบกับมีผู้รับใช้พระเจ้าคนไทยที่บุกเบิกก่อตั้งคริสตจักร โดยมีสายสัมพันธ์กับ ศจ.นิรุทธ์ จันทร์ก้อน ซึ่งติดต่อประสานงานผ่านทางคริสตจักรใจสมาน ทำให้ภารกิจของคริสตจักรมีมากขึ้น ประกอบกับความตั้งใจของมิชชั่น PAOC คือ ต้องการให้คนไทย (คนในพื้นที่) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ
ดังนั้นในปี 1975 จึงได้รวมกันตั้งเป็น “คณะพระกิตติคุณสมบูรณ์สัมพันธ์ในประเทศไทย” (พ.ส.ท.) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “องค์การพระกิตติคุณสมบูรณ์สัมพันธ์ในประเทศไทย” มี 5 คริสตจักรอยู่ภายใต้องค์การฯ ขณะเริ่มต้นนั้นคือ คริสตจักรใจสมาน กรุงเทพฯ, คจ.ปากเกร็ด กรุงเทพฯ, คริสตจักรประชาสรรค์ดินแดง กรุงเทพฯ, คริสตจักรพระกิตติคุณสมบูรณ์สัมพันธ์สระบุรี จ.สระบุรี และคริสตจักรสามัคคีธรรมเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยใช้ธรรมนูญของ PAOC มาเป็นแนวทางดำเนินงานของคณะกรรมการของคณะเป็นคนไทยและมิชชันนารีร่วมกัน ศจ.นิรุทธ์ จันทร์ก้อน เป็นประธานองค์การ พ.ส.ท. คนแรก และการบริหารดำเนินการเป็นไปตามมติและข้อตกลงของกรรมการ แล้วแจ้งให้ผู้รับใช้พระเจ้าในพื้นที่ต่างๆ ทราบ ต่อมาพัฒนาขึ้นเป็นระบบกรรมการภาคประสานงานกับกรรมการบริหาร
ปี 1985 คณะกรรมการได้มอบหมายให้ ศจ.เดชา อังคศุภรกุล กับ ศจ.ศรีธนต์ เยาว์ธานี ร่วมกันยกร่างธรรมนูญและกฎบัตรต่างๆ ขึ้น ได้มีการประชุมร่วมของผู้รับใช้พระเจ้า ระหว่างปี 1985 – 1986 ถึง 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาและรับรองธรรมนูญและกฎบัตร แล้วประกาศใช้ธรรมนูญเป็นทางการในเดือนเมษายน ปี 1986 ในการปรับเปลี่ยนก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน โดยมีกรรมการอำนวยการและกรรมการบริหาร
ธรรมนูญและกฎบัตรขององค์การฯ มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปี 1993 และ ครั้งที่ 2 ในปี 2008
องค์การฯ ได้มีพิธีแต่งตั้ง ศาสนาจารย์ขององค์การฯ ครั้งแรกในปี 1986 มีผู้รับการแต่งตั้ง 4 ท่าน คือ ศจ.มนูญศักดิ์ กมลมาตยากุล, ศจ.แสง ศิริ เธียรวานิชกุล, ศจ.สวรรค์ สร้อยศรี และ ศจ.ศรีธนต์ เยาว์ธานี
ปัจจุบันองค์การฯ มีคริสตจักรและศูนย์ประกาศข่าวประเสริฐในประเทศรวมกัน 87 แห่ง และคริสตจักรในองค์การฯ มีพันธกิจที่ประสานงานกับพันธกิจในต่างประเทศที่สิงคโปร์, ฮ่องกง และเกาหลี ได้มีการสนับสนุนให้ผู้รับใช้พระเจ้าออกไปเป็นมิชชันนารีในประเทศจีน เยอรมัน และเนปาล
**************************************