อาหารบัลดาลสุข
เพราะหัว!หอม
หอมแดงมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า shallot, potato onion และ multiplier onion ฝรั่งเศสเรียกหอมแดงว่า echalote, oignon อินโดนีเซียเรียก bawang merah, brambang มาเลเซียเรียกหอมแดงว่า bawang merah, bawang kecil ฟิลิปปินส์เรียกว่า sibuyas tagalog กัมพูชาเรียก khtum krahaam ลาวเรียก hoom bwax
หอมแดงมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Allium cepa L. cv. group Aggregatum หอมแดงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ของประเทศในถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยส่งออกหอมแดง ไปยังประเทศมาเลเซียเป็นจำนวนมาก การซื้อขายส่วนใหญ่เป็นหัวๆ ชั่งขายเป็นกิโลกรัม และมัดขายเป็นกำๆ แต่ก็ขายตามน้ำหนัก เช่นเดียวกัน หอมแดงอยู่ในวงศ์ Liliaceae
การใช้ประโยชน์หอมแดงทางด้านอาหาร
คนไทยนิยมนำหอมแดง มาเป็นส่วนประกอบเครื่องแกงเผ็ด เป็นส่วนประกอบของไข่เจียวหมูสับ ซุปหางวัว รับประทานสดโดยฝานเป็นแว่นบางๆ รับประทานร่วมกับแหนมสด เมี่ยงคำ ปลาเค็มทอดบีบมะนาว หอมแดงซอย กับพริกขี้หนูสวนหั่นฝอย เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกกะปิ หอมแดงเผาตำผสมกับน้ำพริกปลาร้า และเป็นส่วนประกอบของหลนทุกอย่าง เป็นส่วนประกอบของขนมหวาน เช่น หอมแดงซอยเจียว ใส่ในข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง ขนมหม้อแกงถั่ว และไข่ลูกเขย ( อาหารคาวหวาน ) ฯลฯ
คุณค่าทางอาหารของหอมแดง
คุณค่าทางอาหารของหอมแดง ในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม คือ
มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 88 กรัม
โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม
ใยอาหาร 0.7 กรัม เถ้า ( ash ) 0.6 กรัม
แคลเซี่ยม 36 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 5 หน่วยสากล ( I.U. )
วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม
วิตามินซี 2 มิลลิกรัม
พลังงาน 160 Kj
คุณภาพของหอมแดงขึ้นอยู่กับของแข็ง ( Solids ) ที่ละลายน้ำได้ และให้กลิ่นหอม เมื่อนำไปทอด หอมแดงจะมี soluble solid อยู่ระหว่าง 15-20 Brix เป็นส่วนประกอบของกรดแอมิโน S-allkyl cysteine sulphoxides ที่ให้ทั้งรสชาติ และกลิ่นฉุนของหอม
หอมแดงเป็นพืชสมุนไพรที่เป็นยารักษาโรค
จากรายงานของ Prosea No.8 ( Vegetables ) 1996 ( หน้า 65 ) รายงานว่า หอมแดงมีคุณสมบัติ เป็นยารักษาโรค ใช้ลดไข้และรักษาแผลได้ โดยเอาหัวหอมแดงมาซอยเป็นแว่นๆ ผสมกับน้ำมันมะพร้าวและเกลือ ต้มให้เดือด แล้วนำมาพอกแผล นอกจากนั้นหอมแดง ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และยับยั้งเส้นเลือดอุดตัน ด้วยการบริโภคสด หรือประกอบอาหาร หรือบริโภคชนิดผง
รายงานจากหนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ กรกฎาคม 2539 ( หน้า 105 ) ว่าตำรายาไทยใช้หัวหอมแดง ผสมรวมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูก และกินเป็นยาขับลม รายงานจากหนังสือผักไทย-ยาไทย มกราคม 2539 ( หน้า 1 ) ว่า หอมแดงขับลม และแก้หวัด
รายงานจากหนังสือสมุนไพรอันดับที่ 01 โครงการศึกษาวิจัยสมุนไพร โดยคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2536 ( หน้า 205-207 ) ว่า หัวหอมแดงมีรสฉุน สุขุม ทำให้ร่างกายอบอุ่น ขับลม แก้ท้องอืดแน่น ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เจริญอาหาร แก้บวมน้ำ ฆ่าพยาธิ และแก้อาการอักเสบต่างๆ เมล็ดหอมแดง แก้กินเนื้อสัตว์เป็นพิษ อาเจียนเป็นเลือด ร่างกายซูบผอมเหลือง ( ใช้เมล็ดแห้ง 5-10 กรัมต้มน้ำดื่ม ) หอมแดงมีสารเคอร์ซิติน และสารฟลาโวนอยด์ ( quercetin และ flavonoid glycosides ) อาจป้องกันโรคมะเร็งได้
ข้อควรระวัง
กินหอมแดงเป็นปริมาณมากเป็นประจำ อาจทำให้หลงลืมง่าย ทำให้รากผมเป็นโรคเรื้อรัง ผมไม่เจริญงอกงาม มีกลิ่นตัว ฟันเสีย เลือดน้อย ตาฝ้ามัวไม่แจ่มใส กินเป็นปริมาณมากเกิน อาจทำให้ประสาทเสีย
ที่มา:http://www.waiwai.th.com/health/health21.htm