บทความคริสเตียน
สยบมังกรแห่งความโลภ
ขอขอบคุณ บทความจาก The Lift GCF Magazine ฉบับที่ 38 เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2011 หน้า 3-5
สยบมังกรแห่งความโลภ
โดย อ.ชาติชาย จารุวาที
ความโลภกับพระบัญญัติ
คำว่า "โลภ" ปรากฏครั้งแรกในพระคัมภีร์ที่พระบัญญัติ 10 ประการ และเนื่องจากความโลภได้รับการบรรจุไว้เป็นบัญญัติข้อสุดท้ายในบัญญัติ 10 ประการ (อพยพ 20:17) บางคนจึงอาจจะกำลังคิดว่าลำดับสุดท้ายสำคัญน้อยที่สุด แต่ไม่แน่ว่าลำดับของมันอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของมัน แต่มันอาจจะถูกกำหนดไว้เป็นลำดับสุดท้ายเพื่อให้จำได้ง่ายก็เป็นได้ (เคยสังเกตไหมครับว่าเวลาเราเริ่มฝึกท่องบัญญัติ 10 ประการใหม่ๆ เราอาจจะหลงลืมบางข้อ หรือสลับลำดับของข้ออื่นๆ แต่เรามักจะจำได้ดีเสมอว่า "อย่าโลภ" เป็นข้อสุดท้าย?)
อันที่จริงแล้วนอกเหนือจากบัญญัติ 10 ประการแล้ว ก็ยังมีบัญญัติอื่นๆ อีกมากมายหลายร้อยข้อที่คนอิสราเอลต้องรักษาและปฏิบัติตาม แต่เรื่องความโลภก็ถูกบรรจุไว้ในบัญญัติ 10 ประการ นั่นแสดงให้เราเห็นว่าความโลภเป็นความบาปที่มนุษย์ควรจะระมัดระวังมากเป็นลำดับต้นๆ (และปัญหาสังคมที่เราเห็นกันทุกวันนี้ก็ช่วยยืนยันความจริงข้อนี้ได้อย่างดีทีเดียว)
อะไรเป็นแรงจูงใจให้คนมาหาพระเยซู?
คนเราแต่ละคนมาหาพระเยซูด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน บ้างก็จริงใจที่จะรู้ความจริง เช่น นิโคเดมัส (ยอห์น 3) บ้างก็ต้องการเห็นหมายสำคัญ เช่น พวกฟาริสี (มัทธิว 12:38-39) บ้างก็เพียงต้องการหายโรค เช่น คนโรคเรื้อน 9 คนทีไม่ได้กลับมาหาพระเยซู (ลูก า 17:11-19) บ้างก็ต้องการอาหาร เช่น คนห้า พันคนที่ทวงถามอาหารฟรีมากกว่าการรับอาหารแห่งชีวิต (ยอห์น 6:26) และบ้างก็ต้องการร่ำรวย เช่น น้องชายผู้ขอให้พระเยซูช่วยแบ่งมรดก (ลูกา 12:13) ก่อนที่เราจะคุยกันในประเด็นต่อไป ผมอยากชวนผู้อ่านให้ลองทบทวนสำรวจจิตใจของเราในเวลานี้ดูว่า เรามาหาพระเยซูด้วยเหตุผลใด?
ความโลภ คืออะไร?
พจนานุกรมไทยของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2542 ได้ให้นิยามของความโลภไว้ว่า "ความอยากได้ไม่รู้จักพอ" อย่างไรก็ตาม เราต้องระวังที่จะไม่ใช้พจนานุกรมไทยมาตีความพระคัมภีร์ เพราะในบางครั้งแนวทางการใช้คำของพจนานุกรมไทยอาจจะแตกต่างจากความหมายที่แท้จริงที่พระคัมภีร์ต้องการจะสื่อกับผู้อ่านจริงๆ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการหานิยามของคำต่างๆ ในพระคัมภีร์คือการพิจารณาบริบทแวดล้อมของคำดังกล่าว รวมถึงการเปรียบเทียบการใช้คำนั้นๆ กับบริบทอื่นๆ ด้วย สำหรับคำว่า "ความโลภ" นั้น เมื่อพิจารณาจากบริบทต่างๆ ในพระคัมภีร์แล้วเราจึงพบว่ามันมีความหมายใกล้เคียงกับความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมไทย แต่ก็กินความกว้างมากกว่า เพราะสำหรับพระคัมภีร์นั้น ความโลภ คือความปรารถนาที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการโดยปราศจากการกำหนดขอบเขตของความเพียงพอที่เหมาะสม และคนที่โลภนั้นก็ยินดีที่ทำในสิ่งที่ผิดเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนานั้น เช่น ขโมย ฉ้อโกง โกหก ฯลฯ
ดังนั้นเราจึงเห็นว่าความโลภเป็นบาปที่ไม่อยู่เพียงลำพัง เนื่องจากคนที่ตัดสินใจจะทำบาปประการนี้จะต้องกระทำบาปประการอื่นควบคู่ไปด้วย ที่สำคัญก็คือว่าความโลภเป็นผลของความบาปอื่นที่ซ่อนอยู่ในใจมนุษย์ด้วย เพราะมนุษย์ที่โลภนั้นคือมนุษย์ที่ไม่ไว้วางใจพระเจ้า ไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะทรงจัดเตรียมให้เพียงพอต่อความต้องการของตน ตนจึงต้องใช้หนทางที่ผิด (คือหนทางที่ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้า) ในการตอบสนองต่อความจำเป็นหรือความปรารถนาในชีวิตของตน
ตัวอย่างของคนโลภ
เพื่อที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า "ความโลภ" ในแง่มุมของพระคัมภีร์นั้น เราอาจจะพิจารณาได้จากชีวิตและวิธีคิดของชายผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง (เศรษฐีโง่) ที่พระเยซูคริสต์ทรงยกขึ้นมาประกอบคำสอนของพระองค์ในพระธรรมลูกา 12:13-21 ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ที่มีชายคนหนึ่งมาขอให้พระเยซูช่วยเป็นผู้แบ่งมรดกระหว่างเขากับพี่ชายของเขา กล่าวง่ายๆ คือ เขากำลังขอให้พระเยซูช่วยให้เขารวยขึ้นนั่นเอง แต่พระเยซูทรงปฏิเสธโดยให้เหตุผลที่อาจจะทำให้ทั้งผู้อ่านและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ตกตะลึง นั่นคือเขากำลังถูกความโลภจูงใจให้ขอสิ่งนั้นจากพระเยซูคริสต์(คำเฉลยอยู่ในลูกา 12:15)
คนที่อยู่ในเหตุการณ์อาจจะไม่เห็นว่าความช่วยเหลือที่ชายคนนั้นขอจากพระเยซูเป็นเรื่องผิดปกติอะไร แต่พระเยซูทรงทราบถึงแรงจูงใจของมนุษย์ทุกคน และพระองค์ทรงทราบว่าเขาไม่ได้ขอให้พระเยซูช่วยเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม แต่กำลังขอด้วยความปรารถนาที่ผิด นั่นคือความโลภ (มากเกินกว่าที่ตนควรจะได้รับ) หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงเฉลยแรงจูงใจของชายผู้นั้นให้ผู้ที่กำลังฟังคำสอนของพระองค์ได้รับทราบโดยกล่าวว่า "จงละเว้นเสียจากการโลภทุกประการ" แล้วก็ทรงยกเรื่องเปรียบเทียบเรื่องหนึ่งขึ้นมาประกอบคำกำชับของพระองค์
พระเยซูทรงเล่าเรื่องของชายผู้หนึ่งที่กลายเป็นเศรษฐีเนื่องจากการลงทุนของเขาได้รับผลตอบแทนสูง การได้รับผลตอบแทนสูงจากการลงทุน นั้น ไม่ใช่เรื่องทีผิด พระเยซูคริสต์ไม่ได้ตำหนิเขาในเรื่องนั้น แต่เรื่องที่ผิดคือ "เขาส่ำสมไว้สำหรับตัวเท่านั้น" (ลูกา 12:21) เราจะสังเกตได้ว่าในแผนการจัดการทรัพย์สินของเขานั้น ไม่มีการกล่าวถึงการตอบสนองพระคุณของพระเจ้าหรือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ เลย
สิ่งที่น่าสังเกตอีกเรื่องคือพระองค์ไม่ได้เรียกเขาว่า "โอ คนโลภ..." แต่เรียกเขาว่า "โอ คนโง่..." ทั้งๆ ที่ประเด็นของเรื่องที่ทรงเล่านี้คือเรื่องของ "ความโลภ" คำที่พระองค์ทรงใช้เรียกเขานี้จึงช่วยทำให้เราเข้าใจว่าสำหรับพระเจ้าแล้วความโลภเป็นความโง่เขลา
"โง่" หรือ? เศรษฐีคนนี้ไม่ใช่คนที่มี IQ ต่ำ(ถ้าเขามี IQ ต่ำ เขาก็คงจะไม่สามารถบริหารทรัพย์สินจนกลายเป็นเศรษฐีได้) แต่เขาเป็นคนโง่เพราะเขาไม่เข้าใจวิธีการของพระเจ้าในการจัดการกับความมั่งคั่งของตน ผู้เขียนสดุดีเน้นย้ำหลายต่อหลายครั้งว่า "คนโง่รำพึงอยู่ในใจของตนว่าไม่มีพระเจ้า" (สดุดี 14:1; 53:1; 107:17) ซึ่งหมายความว่า "คนโง่ไม่สนใจที่จะเกี่ยวข้องกับพระเจ้า" ดังนั้นเศรษฐีคนนี้เป็นคนโง่เพราะเขาไม่ได้คิดจะใช้ทรัพย์สินของเขาในหนทางของพระเจ้า การได้มาและการใช้ทรัพย์สินโดยไม่คำนึงถึงพระประสงค์ของพระเจ้าคือความโง่เขลาที่เรียกว่า "ความโลภ"
โคโลสี 3:5-6 กล่าวว่า ความโลภเป็นการนับถือรูปเคารพ ถ้าการนับถือรูปเคารพหมายถึงการนับถือบางสิ่งบางอย่างมากกว่านับถือพระเจ้า การโลภก็เป็นการให้คุณค่าหรือให้ความสำคัญกับบางสิ่งบางอย่างมากกว่าการไว้วางใจในการทรงจัดเตรียมของพระเจ้า
ทุกคนที่มาเชื่อพระเยซูจะรวยขึ้น?
ปัจจุบันมีคำสอนที่ผิดเพี้ยนท่ามกลางคริสเตียนบางกลุ่มที่กล่าวว่าการมาเชื่อพระเยซูนั้นจะทำให้ "ทุกคน" ที่มาเชื่อร่ำรวยขึ้น ที่ว่าเป็นคำสอนผิดเพี้ยนนั้นก็เพราะในความเป็นจริงมีบางคนที่มาเชื่อพระเยซูแล้วยากจนลง เช่นศักเคียส (ลูกา 19:1-10) มัทธิว เปโตร ฯลฯ คำสอนดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นคำสอนที่ส่งเสริมให้คนมาพบพระเยซูคริสต์ด้วยแรงจูงใจที่ผิด เป็นแรงจูงใจเดียวกับชายที่มาขอให้พระเยซูคริสต์ช่วยแบ่งมรดกคือต้องการให้พระเยซูทำให้เขารวยขึ้น (โดยไม่ได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการมารู้จักพระเยซูคริสต์) จริงอยู่ที่ว่าพระเจ้าอาจจะอวยพรให้บางคนรวยขึ้นเมื่อรู้จักกับพระองค์ แต่ก็มีบางคนที่พระองค์ยังทรงให้มีฐานะเท่าเดิม หรืออาจจะลดลงด้วยซ้ำทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแผนการของพระองค์ที่ทรงมีต่อชีวิตของเขา รวมถึงท่าทีที่เขามีต่อทรัพย์สินที่ได้มาด้วยเช่น บางครั้งพระเจ้าก็รักคนบางคนมาก พระองค์จึงทรงให้เขามีแค่พอกินพอใช้ไม่ร่ำรวย ก็เพื่อที่เขาจะได้ไม่ลืมพระองค์และถูกพิพากษา (สุภาษิต 30:8-9)
เปาโลแนะนำอย่างไรเรื่องการจัดการกับความโลภ
มังกรแห่งความโลภจู่โจมคนทุกชนชั้นในสังคม ในพระธรรม 1 ทิโมธี บทที่ 6 นั้น อัครสาวกเปาโลให้แนวทางแก่ทิโมธีอย่างชัดเจนในเรื่องความโลภ ในข้อ 6-10 นั้นบอกว่า "ทำอย่างไรถ้าเรามีทรัพย์น้อย" หลังจากนั้นในข้อ 11-16 ก็บอกต่อไปว่า "เราควรแสวงหาสิ่งใดยิ่งกว่าการเพียงแค่การแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง" และสุดท้ายในข้อ 17-19 นั้น ก็บอกเราว่า "ทำอย่างไรถ้าเรามีทรัพย์มาก" เราอาจจะกล่าวได้ว่า 1 ทิโมธีบทที่ 6 เป็นสูตรสำเร็จที่เปาโลแนะนำทิโมธีในการจัดการกับมังกรแห่งความโลภที่โจมตีผู้เชื่อที่ทิโมธีดูแลอยู่ในเวลานั้น
ความปรารถนาที่จะมีทรัพย์สินมากขึ้นเป็นความโลภหรือ?
พระคัมภีร์สอนให้เรารู้จักสร้างฐานะที่มั่นคงเพื่อให้ผู้อื่นพึ่งพาเราได้บ้าง (เอเฟซัส 4:28) ดังนั้นความปรารถนาที่จะมีทรัพย์สินมากขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องผิดโดยตัวของมันเอง มันยังไม่ใช่ความโลภ แต่จุดประสงค์ที่ต้องการจะมีทรัพย์สินมากขึ้นนั้นต่างหาก ที่จะกำหนดว่าความปรารถนานั้นเป็นความโลภหรือไม่พระเยซูคริสต์ตรัสว่า "เพราะว่าทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน ใจของท่านก็อยู่ที่นั่นด้วย" (มัทธิว 6:21) ดังนั้นถ้าเราปรารถนาที่จะมีทรัพย์สินมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของตัวเราเองฝ่ายเดียว โดยไม่มีการวางแผนที่จะใช้ทรัพย์สินนั้นเพื่อแผ่นดินของพระเจ้าและประโยชน์ของผู้อื่น เราก็กำลังให้ความสำคัญกับทรัพย์สินที่เราปรารถนานั้นมากกว่าแนวทางแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า และนี่แหละที่เรียกว่า "ความโลภ" ที่แท้จริง